วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2552

สุภวิโมกข์

"สุภวิโมกข์" เป็นชื่ออันดับสองของข้าพเจ้าในการท่องโลกไซเบอร์ ที่จริงก็ไม่ใช่อันดับสองหรอก แต่ชื่ออื่นๆ มันจำไม่ได้ เอาเป็นว่า เป็นชื่ออันดับสองที่ยอมรับเป็นชื่อของตัวเองละกัน ชื่ออันดับแรกใช้เล่นในโลกบันเทิง เมื่อหันเหชีวิตเข้าสู่โลกแห่งธรรม ก็จึงอยากจะได้ชื่อที่เกี่ยวกับธรรมะของพระพุทธองค์บ้าง และชื่อนี้ก็ปรากฎขึ้นกับใจขณะเปิดอ่านหนังสือสอนกรรมฐานของอาจารย์ท่านหนึ่งของข้าพเจ้า ดร.จรูญ วรรณกสิณานนท์ ท่านที่คุ้นเคยกับกรรมฐานชนิดนี้ เมื่ออ่านนามสกุลของท่าน คงจะเดาออกทันทีว่ากรรมฐานนั้นก็คือ "วรรณกสิณ" นั่นเอง

คำว่าสุภวิโมกข์นี้เป็นพุทธพจน์ปรากฎในพระไตรปิฎก ๒ แห่ง คือ ในปาฏิกสูตร (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ ข้อ ๑๗)และในเมตตสูตร (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ ข้อ ๕๙๗)

สรุปความในปาฏิกสูตรคือ พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่ภัคควโคตร ว่า เมื่อพระโยคาวจร (ผู้เจริญสมาธิ) เข้าสุภวิโมกข์ (คือเข้าฌานด้วยการ เพ่งสิ่งที่ดีงาม หรือวัณณกสิณเป็นอารมณ์) ย่อมรู้ชัดสิ่งที่ดีงามเท่านั้น แต่มีสมณะพราหมณ์บางพวกกล่าวบิดเบือนไปตรงข้ามว่าพระพุทธองค์ ทรงสอนว่าผู้เข้าสุภวิโมกข์ย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงว่าไม่งาม (การเจริญ วัณณกสิณ คือการกำหนดสิ่งทั้งหมดงดงามเป็นอารมณ์)

และในเมตตสูตร ทรงกล่าวถึงการเจริญอัปปมัญญา (เมตตาพรหมวิหาร)ว่ามีสุภวิโมกข์เป็นผล ซึ่งเป็นการกำหนดสิ่งที่ดีงามเป็นอารมณ์เช่นกัน ฌานที่ได้ด้วยการเจริญวัณณกสิณ และอัปปมัญญา จึงเรียกว่า สุภวิโมกข์ สามารถทำให้จิตสงบระงับจากอกุศลธรรมได้ตลอดเวลาที่อยู่ในฌาณ

กัลยาณมิตรของข้าพเจ้าท่านหนึ่งได้กรุณาเขียนบทกวีเกี่ยวกับ "สุภวิโมกข์" ให้ไว้เป็นที่ระลึก จึงขอนำมาลงไว้ ณ ที่นี้ด้วย










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น